Header Ads

กรมการค้าภายในดัน “ปฏิญญาเชียงใหม่” ในเวทีประชุมชั่งตวงวัดโลก เป้าหมาย “NEXT” ได้เสียงสนับสนุนท่วมท้น



กรมการค้าภายในประกาศความสำเร็จในการประชุมคณะกรรมการชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ (CIML) ครั้งที่ 58 ที่ประชุมรับรอง “ปฏิญญาเชียงใหม่ว่าด้วยการพัฒนาระบบชั่งตวงวัดที่ก้าวหน้า” พร้อมโชว์แผน NEXT นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ ยกระดับงานชั่งตวงวัด แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างองค์ความรู้ เสริมสร้างความโปร่งใสเชื่อถือได้ ได้รับเสียงสนับสนุนท้วมท้น เผยยังใช้โอกาสนี้ขับเคลื่อน Soft Power ทั้งอาหาร วัฒนธรรม ผู้เข้าร่วมสุดประทับใจ


นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมการค้าภายในได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ (International Committee of Legal Metrology meeting : CIML) ครั้งที่ 58 ที่ จ.เชียงใหม่ ที่เป็นการประชุมแบบพบหน้ากันครั้งแรกหลังจากสถานการณ์โควิด-19 โดยมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมการประชุมจาก 54 ประเทศทั่วโลก รวมผู้เข้าร่วมประชุม 128 คน ทั้งนี้ CIML มีประเทศสมาชิก ทั้งหมด 127 ประเทศ




โดยในการประชุมครั้งนี้ ไทยโชว์วิสัยทัศน์เสนอแผนงานความร่วมมือด้านชั่งตวงวัดในรูปแบบของปฏิญญาเชียงใหม่ว่าด้วยการพัฒนาระบบงานชั่งตวงวัดที่ก้าวหน้า หรือ Chiang-Mai Declaration on NEXT Legal Metrology System และได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกจำนวนมาก เช่น จีน อินเดีย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และเอธิโอเปีย เป็นต้น โดยคำว่า NEXT ตัว N คือ Novelty and innovation ก้าวทันและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตัว E คือ Enhancement of Protection and Services การยกระดับการปกป้องผู้บริโภค รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ตัว X คือ Experiences and Intelligence การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เสริมสร้างองค์ความรู้ทั้งในเชิงเทคนิคและในเชิงบริหารจากนั้นแต่ละประเทศจะนำองค์ความรู้เหล่านี้มายกระดับมาตรฐานงานขั่วตวงวัด และตัว T คือ Transparency and Accountability ความโปร่งใสเป็นธรรมและน่าเชื่อถือ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่กรมการค้าภายในยึดถือว่าทุกอย่างจะต้องทำด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ซึ่งความเป็นธรรมเหล่านี้จะเป็นรากฐานในการดูแลให้ความเป็นธรรมทั้งผู้ประกอบการ เกษตรกร และผู้บริโภค




นายวัฒนศักย์ กล่าวว่า จากนี้กรมฯ จะนำแผนงานตามปฏิญญาเชียงใหม่ที่สมาชิกองค์การชั่งตวงวัดโลกรับรองตามข้อเสนอของไทยไปผลักดันต่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และจะพยายามสร้างพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนซึ่งไทยพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในลักษณะ “Brothers to Brothers” เพื่อช่วยกันยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลเครื่องชั่งตวงวัดให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ถือเป็นเป้าหมายที่เราพยายามจะเดินหน้า และต่อไปจะดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในการเข้ามาตรวจสอบงานชั่งตวงวัดด้วย เชื่อมั่นว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้



นอกจากนี้ ไทยยังได้นำเครื่องชั่งตวงวัดแบบต่างๆ รวมทั้งคัดขนาดลำไย ซึ่งเป็นเครื่องชั่งตวงวัดที่กรมการค้าภายในได้ร่วมกับเอกชนพัฒนาขึ้น มาแสดงบริเวณนิทรรศการด้วย ซึ่งได้รับความสนใจจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันในช่วงการประชุม กรมฯ ได้ใช้โอกาสนี้ แสดงให้สมาชิกเห็นถึง Soft Power ของไทย ที่เริ่มจากบรรยากาศที่สุดประทับใจ อาหารเลิศรส และวัฒนธรรมต่างๆ ของไทย รวมทั้งพาไปชมความงดงามของวัดศรีสุพรรณ และศูนย์อุตสาหกรรมทำร่มบ่อสร้าง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่กรมฯ เข้าไปมีส่วนสนับสนุน ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศต่าง ๆ ได้รับรู้ และสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะได้นำไปบอกต่อ และช่วยขับเคลื่อนให้ Soft Power ของไทยเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

 


“การประชุมในครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นการฉลองครบรอบ 100 ปี งานชั่งตวงวัดของไทย แต่ยังเป็นการโชว์บทบาทไทยในเวทีโลกในงานด้านชั่งตวงวัด ที่จะมุ่งไปสู่ NEXT ที่มีการกำหนดเป้าหมายไว้ชัดเจนในทุกๆ กระบวนการทำงาน และตั้งเป้าให้ไทยเป็นต้นแบบ หรือเป็นแบบอย่างให้กับประเทศสมาชิก ที่จะได้นำมาตรฐานด้านชั่งตวงวัดไปปรับใช้ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ในการคุ้มครองดูแลประชาชนในประเทศของตนเอง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ตามที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญ” นายวัฒนศักย์กล่าว



ดร. Bobjoseph Mathew ประธาน CIML กล่าวว่า ขอสนับสนุนการจัดทำปฏิญญาเชียงใหม่ เพราะมีการกำหนดแผนการทำงานไว้ชัดเจน โดยตามเป้าหมาย NEXT ที่กรมการค้าภายในได้นำเสนอ ประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิก สามารถนำไปปรับใช้ในการพัฒนางานชั่งตวงวัดของตนเองได้ และจะเกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจ การค้าในประเทศเป็นอย่างมาก

นาย Anthony Donnellan ผู้อำนวยการสำนักมาตรวิทยาทางกฎหมายระหว่างประเทศ (International Bureau of Legal Metrology) กล่าวว่า ปฏิญญาเชียงใหม่ฉบับนี้ จะเป็นแบบอย่างที่ดีในการขับเคลื่อนเรื่องชั่งตวงวัด และมีส่วนช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เศรษฐกิจทุกประเทศจำเป็นต้องมี และยังสามารถนำรูปแบบไปใช้ปรับปรุงและพัฒนาระบบชั่งตวงวัดของประเทศสมาชิก เพื่อปกป้องประชาชนในเรื่องชั่งตวงวัด ทำให้การค้าและอุตสาหกรรมภายในเติบโต ทั้งนี้ ยังเป็นไปตามเป้าหมายของ CIML ที่ต้องการช่วยเหลือประเทศสมาชิกให้เรียนรู้จากการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ แล้วนำมาปรับใช้




No comments

Powered by Blogger.