Header Ads

"ค.ร.อ.ท. ออกโรงเตือนโยกย้าย ผอ.อาชีวะ ไม่ฟังเสียงกรรมการสถานศึกษา หวั่นธรรมาภิบาลล่มสลาย"



นายเศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย(ค.ร.อ.ท.) กล่าวว่าจากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งโยกย้าย ผอ.วิทยาลัย 4 แห่ง เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี วิทยาลัยเทคนิคชัยนาท วิทยาลัยเทคนิคปัตตานีและวิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี ทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการย้ายโดยให้ฟังความเห็นคณะกรรมการบริหารสถานศึกษา เป็นไปตามระเบียบการบริหารงานบุคคลที่ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.) กำหนด ยึดหลักธรรมาภิบาล มีความเป็นธรรมโปร่งใส ตามนโยบายพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่จากการติดตามการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาแห่งหนึ่งได้พิจารณาผู้ขอย้ายฯ เพื่อให้ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งในวิทยาลัยแห่งนั้น คณะกรรมการสถานศึกษา ซึ่งประกอบด้วย ประธานกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนครู ตัวแทนผู้ปกครอง ตัวแทนศิษย์เก่า ตัวแทนองค์กรศาสนา ตัวแทนท้องถิ่น ตัวแทนสถานประกอบการ เป็นต้น ได้มีการประชุมกันอย่างจริงจังหวังเพื่อให้ได้ผู้ที่เหมาะสมเป็นไปตามระเบียบหลักเกณฑ์ควรได้รับการแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่ง ผอ.วิทยาลัย ตามเจตนารมณ์ของระเบียบกฎหมาย คณะกรรมการสถานศึกษาแห่งนั้นได้รับหนังสือแจ้งจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้มีการประชุมพิจารณาและส่งผลภายในวันที่ 6 ธันวาคม 2566 แต่อยู่ๆในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ก็ได้มีโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ของสำนักอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา แจ้งให้คณะกรรมการสถานศึกษาแห่งนั้นต้องจัดประชุมด่วน และให้ส่งผลมติการประชุมภายในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 กรรมการสถานศึกษาของวิทยาลัยดังกล่าวก็ปฎิบัติตามและได้นัดประชุมกันในช่วงกลางคืนของวันดังกล่าว เพื่อส่งผลการประชุมให้ทันตามที่เจ้าหน้าที่ของสำนักอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โทรศัพท์แจ้งมา ซึ่งมติที่ประชุมคณะกรรมการได้จัดลำดับ

ผู้อำนวยการที่ขอย้ายทั้ง 3 ราย ตามลำดับ 1, 2 และ 3 ซึ่งผลคะแนนกรรมการสถานศึกษาลงมติให้คนที่ 1 10 คะแนน ลำดับที่ 2 กรรมการฯ ลงมติเห็นชอบ 8 คะแนน และคนที่ 3 ลงมติ 0 คะแนน ส่งผลการประชุมรายงานไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) แต่ปรากฏว่าผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ย้ายมาเป็นผู้อำนวยการที่วิทยาลัยแห่งนั้นกลับเป็นคนที่ได้คะแนน 0 เป็นคนที่คณะกรรมการสถานศึกษาไม่ลงคะแนนให้แม้แต่คนเดียว มันเกิดอะไรขึ้นในกระบวนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่จะรับฟังคณะกรรมการสถานศึกษา จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์และมีคำถามตามมาว่าการออกคำสั่งย้ายในครั้งนี้เป็นการดำเนินการที่ชอบแล้วหรือไม่ และมีเหตุผล ใช้คุณธรรม โปร่งใสหรือไม่ หรืออาจมีใบสั่งจากผู้มีอำนาจนอกระบบหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ) ควรที่จะออกมาชี้แจงต่อสาธารณะให้ชัดเจนว่าการแต่งตั้งโยกย้ายในครั้งนี้ชอบด้วยระเบียบกฎหมาย ใช้หลักธรรมาภิบาลและคณะกรรมการสถานศึกษาที่พิจารณาครั้งนี้ยังมีเกียรติและศักดิ์ศรีอีกหรือไม่ และต่อไปสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ยังจำเป็นที่จะมีกรรมการสถานศึกษาหรือไม่ หรือเป็นแค่พิธีกรรม


นายเศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย(ค.ร.อ.ท.) ยังได้ให้ความเห็นกับผู้สื่อข่าวถึงประเด็นการแต่งตั้งโยกย้ายผอ.วิทยาลัยฯในครั้งนี้อีกว่าถ้าเป็นการดำเนินการโดยสุจริตยึดหลักธรรมาภิบาลและเป็นไปตามขั้นตอนโปร่งใสจริงก็ถือว่าการโยกย้ายครั้งนี้มีความยุติธรรม มีหลักธรรมาภิบาล แต่ถ้ามีการดำเนินการที่มีอะไรซ่อนเร้นมีการใช้ระบบอุปถัมภ์หรือมีอำนาจมืดอยู่เบื้องหลัง ถ้ามีอำนาจนอกระบบมาครอบงำในการพิจารณาการโยกย้ายครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบและเป็นตราบาปของอาชีวะอีกครั้ง เป็นการไม่เคารพหยามเกียรติศักดิ์ศรีกรรมการสถานศึกษา และไม่สนใจต่อนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ประกาศให้การแต่งตั้งโยกย้ายมีความโปร่งใส เรื่องนี้คงต้องมีการพิจารณาถึงหลักการมีธรรมาภิบาลหรือความเป็นธรรมในองค์กรหรือไม่อย่างใด ขอฝากถึงเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้พิจารณาแก้ไขให้ถูกต้องก่อนระบบธรรมาภิบาลในอาชีวะจะล่มสลาย ส่งผลต่อคุณภาพของสถานศึกษา

No comments

Powered by Blogger.