เคาะ! กรอบนโยบาย ‘การจัดการน้ำเชิงพื้นที่’ เสริมสร้างความเข้มแข็ง ‘ผู้ใช้น้ำ’ เข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม (Policy Statement)
สช. จัดเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประเด็น “การส่งเสริมความเข้มแข็งกลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่” ภาคีให้ฉันทมติเห็นชอบต่อกรอบทิศทางนโยบาย มุ่งสร้างส่วนร่วมระหว่างรัฐ-ท้องถิ่น-เอกชน-ประชาสังคม-องค์กรผู้ใช้น้ำ ร่วมมีบทบาทบริหารจัดการน้ำอย่างเข้มแข็งในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างความเป็นธรรม-เข้าถึงน้ำได้อย่างเท่าเทียม เตรียมนำเข้าสู่การรับรองในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 วันที่ 21-22 ธ.ค.นี้
สำหรับกรอบทิศทางนโยบายของ “การส่งเสริมความเข้มแข็งกลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่” มุ่งเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรผู้ใช้น้ำ และกลุ่มเครือข่าย โดยมีแผนบูรณาการร่วมกันของคณะกรรมการระดับต่างๆ และกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ที่สนับสนุนให้มีกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเข้มแข็งระดับพื้นที่ เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการที่ดี สร้างหลักประกันพื้นฐาน เพื่อสิทธิในการการเข้าถึงน้ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ส่งเสริมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่
ทั้งนี้ ประเด็นการขับเคลื่อนสำคัญประกอบด้วย การหนุนเสริมกระบวนการสร้างความเข้มแข็งกลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ การบูรณาการและสนับสนุนพื้นที่กลางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามความต้องการของพื้นที่ การส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวมเพื่อโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจ คุณภาพสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของชุมชน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและความตระหนักรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ทั้งการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และการส่งเสริมวิจัยและใช้ประโยชน์งานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเชิงพื้นที่ ความสำคัญของการประเมินน้ำต้นทุนในพื้นที่กับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เพื่อชุมชน ให้เกิดสมดุลตามปริมาณน้ำต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน ประธานคณะทำงานพัฒนาประเด็นการส่งเสริมความเข้มแข็งกลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ เปิดเผยว่า ทางคณะทำงานได้ร่วมกันพัฒนาประเด็นนี้ในช่วงตลอดกว่า 4 เดือนที่ผ่านมา ผ่านการจัดเวทีประชุม หารือกลุ่มย่อย มีกระบวนการถกแถลงร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมากมาย รวมทั้งการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ ซึ่งมีการหารือประเด็นนี้ในเวทีสมัชชาสุขภาพจังหวัด ที่จัดขึ้นใน 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม น่าน อุบลราชธานี เชียงใหม่ และสตูล เมื่อวันที่ 17 ต.ค.,1 พ.ย., 6 พ.ย., 8 พ.ย. และ 9 พ.ย. 2566 ตามลำดับ
รศ.ดร.บัญชา กล่าวว่า จากเวทีสมัชชาสุขภาพทั้ง 5 จังหวัด ได้มีทั้งหน่วยงานภาคี องค์กร เครือข่าย ที่เข้าร่วมรับฟังความเห็นอย่างครบถ้วน ทั้งส่วนราชการ ภาคประชาสังคม ท้องถิ่น ตลอดจนภาคการเมืองเข้าร่วมด้วยในบางพื้นที่ ส่วนเวทีที่จัดขึ้นในส่วนกลาง ก็ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานระดับประเทศที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฯลฯ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลเรื่องน้ำ กำกับนโยบาย ตลอดจนให้ทุน เข้าร่วมให้ข้อคิดเห็นอย่างกว้างขวาง จนนำมาสู่การร่างเป็นชุดข้อเสนอที่มาร่วมกันพิจารณาในวันนี้
ในส่วนของเวทีสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งนี้ยังได้มีการนําเสนอ สถานการณ์และข้อเสนอนโยบายจากกระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัด ทั้ง 5 จังหวัด ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ สะท้อนถึงสภาพปัญหาข้อจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ไม่ว่าน้ำอุปโภค น้ำบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรกรรม โดยเฉพาะผู้ที่อยู่นอกเขตชลประทาน จึงร่วมกันมีข้อเสนอนโยบายที่สำคัญ ได้แก่
1. พัฒนาแผนแม่บทและกลไกการบริหารจัดการน้ำบนพื้นที่สูง
2. เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนสู่พื้นที่กลางในการบริหารจัดการ
3. พัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำ เพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจของชุมชนบนพื้นที่สูง
4. ส่งเสริมการรับรู้และปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน
5. ส่งเสริมการลดใช้สารเคมีและการทิ้งขยะอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
จ.น่าน สะท้อนปัญหาการเข้าถึงน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคที่มีคุณภาพ ทั้งในชุมชนเมือง ชนบท และพื้นที่สูง ขาดความมั่นคงด้านน้ำในภาคการผลิต ปัญหาน้ำท่วมและอุทกภัย ฯลฯ จึงร่วมกันพัฒนาข้อเสนอนโยบายที่สำคัญ ได้แก่
1. พัฒนาและยกระดับระบบกลไกเพื่อสร้างความเข้มแข็งการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่
2. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม
3. สร้างพื้นที่เรียนรู้ต้นแบบการจัดการน้ำ จ.น่าน
4. ส่งเสริมการจัดการน้ำแบบองค์รวม ผ่านการใช้ข้อมูล เทคโนโลยี นวัตกรรม เชื่อมประสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น
5. Roadmap การจัดการน้ำ การอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
จ.อุบลราชธานี สะท้อนถึงปัญหาสำคัญเรื่องน้ำ 3 ด้าน คือ น้ำแล้ง น้ำท่วม และน้ำเสีย จึงร่วมกันพัฒนาข้อเสนอนโยบายที่สำคัญ ได้แก่
1. พัฒนากลไกและกระบวนการจัดการเชิงบูรณาการที่เน้นการมีส่วนร่วม
2. จัดตั้ง ส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพกลไกการจัดการน้ำทุกระดับ
3. พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านการจัดการน้ำทุกมิติ
4. พัฒนาระบบการสื่อสารสาธารณะที่รวดเร็ว เข้าถึงได้
5. จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมในทุกระดับ
6. ส่งเสริมการอนุรักษ์และบริหารจัดการป่าต้นน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ
7. พัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมการจัดการน้ำที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่
จ.สตูล สะท้อนถึงสถานการณ์ปัญหาจากการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ที่ก่อความเสียหายกับความหลากหลายของระบบนิเวศ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ รวมถึงข้อจำกัดของข้อมูล เครื่องมือในการจัดการน้ำ ฯลฯ จึงร่วมกันพัฒนาข้อเสนอนโยบายที่สำคัญ ได้แก่ 1. ระดับท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งกลไกการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ เชื่อมโยงองค์กรผู้ใช้น้ำ กลุ่มผู้ใช้น้ำ และบทบาทการตัดสินใจร่วมของทุกภาคส่วน 2. ระดับจังหวัด สร้างกลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนระดับพื้นที่ ลุ่มน้ำ จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน นำไปสู่การออกแบบการจัดการน้ำที่เหมาะสมกับสถานการณ์ 3. ระดับชาติ ปรับปรุงระบบการจัดการในระดับโครงสร้าง แก้ไขระเบียบ กฎหมาย ข้อบังคับ เพื่อสร้างสมดุลทางนิเวศสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นธรรมตามบริบทของพื้นที่
จ.สมุทรสงคราม สะท้อนถึงปัญหาจากสภาพน้ำเค็ม การทิ้งน้ำเสีย การปล่อยลำคลองให้มีสภาพตื้นเขิน อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายเรื่องน้ำ ฯลฯ จึงร่วมกันมีข้อเสนอนโยบายที่สำคัญ ได้แก่
1. ระดับท้องถิ่น มีบุคลากรทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงขององค์กรผู้ใช้น้ำ มุ่งสร้างชุมชนต้นแบบการทำงาน
2. ระดับจังหวัด ส่งเสริมความรู้เรื่องกฎหมายและบทบาทหน้าที่ขององค์กรผู้ใช้น้ำให้กับท้องถิ่นและประชาชน
3. หน่วยงานอื่นๆ เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ภาค 2 เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความตื่นตัวขององค์กรผู้ใช้น้ำ
4. ระดับเชิงโครงสร้างและกลไกการทำงาน เชื่อมโยงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า เป็นต้น
ขณะเดียวกันยังมีข้อเสนอจากภาคีเครือข่ายที่เกิดขึ้นภายในเวที ไม่ว่าจะเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วม ที่ต้องเป็นรูปธรรม และไม่ใช่เพียงพิธีกรรม การสร้างความเข้มแข็งขององค์กรผู้ใช้น้ำ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรรมซึ่งส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งการเพิ่มเติมคำสำคัญอย่าง ภูมิปัญญาท้องถิ่น การไม่มีแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำระหว่างประเทศ บริการสาธารณะเรื่องน้ำ การเป็นหุ้นส่วน นิยามของพื้นที่กลาง เป็นต้น
ด้าน นพ.สมชาย พีระปกรณ์ ประธานคณะอนุกรรมการกำกับ สนับสนุน และเชื่องโยงกระบวนการสมัชชาสุขภาพ กล่าวว่า ภายหลังจากที่ประชุมได้มีฉันทมติในกรอบทิศทางนโยบายร่วมกันในครั้งนี้ ทางคณะทำงานจะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอเพิ่มเติมที่ได้จากในเวที เพื่อปรับปรุงเอกสารให้ได้ความชัดเจนและครบถ้วนมากยิ่งขึ้น ก่อนที่จะนำไปรับรองและกล่าวถ้อยแถลงเพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมกันขับเคลื่อน “การส่งเสริมความเข้มแข็งกลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่” ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปบนเวที สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 21-22 ธ.ค.นี้
No comments